headbanner

headbanner

วันเสาร์ที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2556

ที่มาเพลง “ขวัญดาว”

อ้างอิงจาก

ไทยโพสต์ วันพุธที่ 25 ธันวาคม 2556 คอลัมน์ถนนเพลงไทย โดย ศรีสุวรรณ
  
          วามฝันของหนุ่มสาว เรื่องราวของความรัก ล้วนเป็นสิ่งสวยงามประทับใจของแต่ละคน แม้ช่วงเวลาเช่นนั้นอาจจะผ่านไปนานแล้ว แต่ทุกครั้งที่หวนนึกถึง ก็ยังเป็นความชื่นใจ เป็นความหมายของชีวิต
          “ขวัญดาว” เป็นเพลงที่อาจถูกเข้าใจว่า เป็นเพลงประจำสถาบันโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานเพลงหนึ่ง แต่แท้จริงแล้วเพลงนี้เป็นเพียงเพลงรักทั่วๆ ไป ที่แต่งขึ้นจากจินตนาการของนักแต่งเพลง  จากภาพประทับใจของหนุ่มสาวชาวโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน 
          เพียงแต่ภาพนั้นน่าชื่นชม จนได้สร้างจินตนาการอันบรรเจิดให้กับบทเพลงนี้  ซึ่งได้ปรากฏออกมาเป็นถ้อยคำภาษารักอันซาบซึ้ง และงดงามไพเราะในบทเพลงอย่างคาดไม่ถึง

          ผู้แต่งคำร้องและทำนองเพลงนี้คือ ประยูร เวชประสิทธิ์ นักแต่งเพลงเจ้าของบทเพลงยอดนิยมในอดีตเช่น “อนุสาวรีย์รัก”, “น้ำตาคลอ”, “สมการรัก”, “รักสุดหัวใจ”, “นิราศเมืองประทุม”, “นครปฐม”, “ศรีราชา”และ ฯลฯ  
          ประมาณปี พ.ศ.2505 เพลง “อนุสาวรีย์รัก” ของผู้แต่ง ประยูร เวชประสิทธิ์ ได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ เพราะช่วงนั้นสื่อที่ทำให้เพลงไปถึงผู้ฟังยังมีความเรียบง่าย ไม่ซับซ้อน  สื่อวิทยุเพียงสื่อเดียวก็สามารถกระจายผลงานเพลง ไปถึงนักนิยมเพลงทั่วประเทศในเวลาอันรวดเร็ว และธุรกิจเพลงก็ยังเป็น “ธุรกิจศิลป์” ที่ไม่ต้องใช้แผนการตลาดเป็นระบบค่ายกลอย่างในปัจจุบัน  
          ช่วงนี้เองที่ ประยูร เวชประสิทธิ์ ได้รู้จักกับนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ซึ่งเป็นทั้งคอเพลงและเป็นนักร้องกิตติมศักดิ์ท่านหนึ่ง  คือ พ.ต.อ.พิเศษ นายแพทย์ บุญสันต์ เชิดเกียรติกุล ซึ่งเป็นอาจารย์สอนอยู่ที่โรงเรียนนายร้องตำรวจสามพราน ผู้คนในแวดวงจะเรียกท่านสั้นๆ ว่า พี่หมอ หรือ พี่หมอบุญสันต์ กันจนติดปาก ท่านคือต้นแบบเสียงของเพลง “นครปฐม”และ “ศรีราชา” ซึ่งจะเป็นที่รู้จักกันดีทั่วภาคตะวันออก ผลงานงานเพลงของ ประยูร เวชประสิทธิ์ นั่นเอง
          

          ที่มาของเพลง “ขวัญดาว” ได้ปรากฏขึ้นในจินตนาการของ ประยูร เวชประสิทธิ์ ในช่วงกลางวันของวันเสาร์และวันอาทิตย์วันใดวันหนึ่ง ที่บ้านพักและคลินิกของพี่หมอบุญสันต์  ซึ่งตั้งอยู่ตรงประตูทางเข้าของโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานนั่นเอง ตรงกับสนามฟุตบอลของโรงเรียนนายร้อยสามพรานพอดีด้วย รอบๆ สนามฟุตบอลจะมีต้นพร้าวต้นเตี้ยพันธุ์สามพรานอยู่โดยรอบ เป็นทั้งร่มเงาและจุดนัดพบ สำหรับผู้เป็นญาติๆ และเพื่อนๆ ตลอดจนคนรักของนักเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ที่จะพากันมาเยี่ยมเยียนทุกวันวันเสาร์และอาทิตย์
          ส่วนใหญ่ผู้ที่มาเยี่ยมเป็นประจำก็มักจะเป็นคู่รักกันนั่นเอง  ใต้ต้นมะพร้าวบางต้น มีหนุ่มสาวล้อมกลุ่มกันอยู่เป็นกลุ่มใหญ่  บางต้นก็มีสองสามคู่ แต่อย่างน้อยใต้ต้นมะพร้าวรอบสนามฟุตบอลโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานในยุคนั้น ก็จะไม่เคยขาดคู่รักหนุ่มสาวที่มาสนทนาภาษารักต่อกัน
          ทัศนวิสัยจากบ้านของพี่หมอบุญสันต์ กับโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานนั้นไม่สิ่งกีดกั้นสายตา ขณะเมื่อมองภาพหนุ่มสาวสนทนาภาษารักกันอยู่นั้น  ประยูร เวชประสิทธิ์ เล่าให้ฟังว่า
          “ตัวเราเองก็ทหารเก่า ภาพที่ได้เห็นจึงโดนใจมาก  มันเหมือนกับเราร่วมอยู่ในเหตุการณ์กับพวกเขาด้วยเลย  ภาพที่มองเห็นนั้นก็ชัดเจน เห็นกระทั่งประกายแห่งความฝัน ในสายตาแฟนสาวของนักเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน ที่ฝันจะได้เห็นความสำเร็จเกิดขึ้นกับชายคนรัก มันหมายถึงอนาคตของเขาทั้งสองคน ซึ่งก็คือความชื่นใจของเธอ”
เพลง “ขวัญดาว”
     คำร้อง ทำนอง ประยูร เวชประสิทธิ์  
     ขับร้องโดย จินตนา สุขสถิตย์
คืนแรมริบหรี่...มีเพียงแสงดาว
วาววามวับวาว ฉันรักดาวโอ้ดาวแสนซื่อ
ไม่เคยแรมจากฟ้าดังคำเขาลือ
เหมือนคนดังเด่นนามระบือ คนนั้นคือดารา
ดาวกระพริบอยู่...ดูงามละลาน
แต่ดาวสามพรานแวววับวามเด่นงามยิ่งกว่า
ตลอดวันเฉิดฉันดูงามระยับตา
ฉันและเธอต่างรอเวลาให้ดาวนั้นมาเป็นของเธอ
ฝันฉันฝัน...สักวันฉันคงได้ข่าว
ทุกคืนมองดาวสุขใจเสมอ
อยากเห็นดาวตกลงที่ตรงบ่าเธอ
สุขหัวใจจริงเออจะคอยปรนเปรอให้ความอบอุ่น
ติดดาวที่บ่า...กลับมาให้ชม
ดูน่านิยมทุกสังคมกล่าวชมหอมกรุ่น
อนาคตสดใสเป็นชายสมบูรณ์
ทั้งเชิดชูแห่งวงศ์ตระกูล กับคนรักคุณเป็นขวัญดาว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น